วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

หลักการชกมวยไทย



การชกมวยไทยที่ดี มีหลักสำคัญ
           คือ มีการป้องกัน ด้วยการยืน มั่นคง เข้มแข็ง สูงเด่น การตั้งแขนป้องกัน (การการ์ดมวย)และการเก็บคาง เปรียบเสมือนป้อมปราการ เท้าหน้า จรดชี้ไปข้างหน้าวางน้ำหนักครึ่งฝ่าเท้า เท้าหลัง วางทแยงเฉียงกว้างกว่าหัวไหล่วางน้ำหนักเศษหนึ่งส่วนสี่ไว้ที่อุ้งนิ้วหัวแม่โป้ง ขยับก้าวด้วยการลากเท้าหลังตามพร้อมที่จะหลอกล่อ ขยับเข้า ออก ตั้งรับและโจมตีตอบโต้ แขนหน้ายกกำขึ้นอย่างน้อยเสมอไหล่ หรือจรดสันแก้ม แขนหลังยกกำขึ้นจรดแก้ม ศอกทั้งสองข้างไม่กางออกและไม่แนบชิด ก้มหน้าเก็บคาง ตาเขม็งมองไปตรงหว่างอกของคู่ต้อสู้ พร้อมที่จะเห็นการเคลื่อนไหวทุกส่วน เพื่อที่จะรุก รับ หรือตอบโต้ด้วยแม่ไม้ ลูกไม้และการแจกลูกต่างๆ มีการเคลื่อนไหวที่องอาจมีจังหวะ มีการล่อหลอกและขู่ขวัญประดุจพญาราชสีห์ และพญาคชสีห์ อาวุธมวยที่ออกไป ต้องมีเป้าหมายและจุดประสงค์แน่นอน(แต่มักซ้อนกลลวงไว้) มีการต่อสู้ระยะไกล(วงนอก)และระยะประชิด(วงใน)และมีทีเด็ดทีขาดในการพิชิตคู่ต่อสู้ แม่ไม้มวยไทยที่รู้จักแพร่หลาย อาทิ จระเข้ฟาดหาง(หมุนตัวแล้วฟาดตวัดด้วยวงเท้าหลัง), เถรกวาดลาน(เตะกวาดล่างวงนอกรวบสองเท้าให้เสียหลัก) ,หนุมาณถวายแหวน(ชกหมัดเสยพร้อมกันสองข้าง),มอญยันหลัก(ถีบลำตัวให้เสียหลัก),หักงวงไอยรา(เหยียบคู่ต่อสู้เพื่อยกตัวเตะตวัดก้านคอ),บั่นเศียรทศกัณฑ์ (เตะก้านคอ),ปักลูกทอย(ปักศอกลงตรงหน้าขาคูต่อสู้), มณโฑนั่งแทน(กระโดดขึ้นปักศอกลงกลางกระหม่อม), หิรัญม้วนแผ่นดิน (ศอกกลับ) ,พระรามเดินดง (เตะแล้วต่อยตามข้างเดียวกัน),มอญแทงกริช (ถองด้วยศอกบริเวณซี่โครงอ่อน),ฤๅษีบดยา (กระโดดปักศอกกลางศีรษะ),พุ่งหอกโมกขศักดิ์ (ตั้งศอกเหนือศีรษะพุ่งเข้าบริเวณใบหน้า)ฯลฯ ลูกไม้ มีทั้งลูกผสมและลูกแยก เพื่อใช้หลอกล่อและเผด็จศึก เช่น แตะตรงเตะ แตะถีบเตะ แตะตรงถีบเตะ,ลูกเตะสลับ เตะช้อน เตะตวัด เตะสูง เตะสวาบ เตะพับนอกพับใน เตะคา เตะเขี่ยล่าง,ลูกถีบหน้า ถีบหลัง ถีบจิก,ลูกศอกตี ตัด งัด พุ่ง กระทุ้ง กลับ,ลูกเข่าน้อย เข่าลา เข่าโค้ง เข่าตี เข่ากระทุ้ง เข่าลอย เข่าแหลม เข่าคา,ลูกหมัดหน้า หมัดหลัง หมัดลัก หมัดอ้อม หมัดเกี่ยว หมัดสอย หมัดเสย หมัดซ้ำ หมัดหนึ่งสอง หมัดชุดสามเหลี่ยม นอกจากนี้ยังมีการใช้ส่วนที่ไม่เป็นอาวุธในกาป้องกัน/สร้างจังหวะในการตอบโต้ เช่น การใช้ฝ่ามือในการบัง ปิด ปัด ดึง ดัน ผลัก โหน ค้ำ ขวาง กด ใช้เท้าในการเต้น กระโดด ใช้หัวไหล่หรือลำตัวในการหลอกล่อ ฯลฯ
องค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของนักมวยไทย
  • ขนาดและความสมส่วนของร่างกาย
  • ความเข้มแข็งของร่างกายและจิตใจ
  • จิตวิญญาณของนักสู้
  • สมาธิ ปฏิภาณ ไหวพริบ
  • ความมีอารมณ์รื่นเริงเบิกบาน อ่อนน้อมและมีไมตรีจิต
  • ความศรัทธาเชื่อมั่นกตัญญูต่อครูบาอาจารย์
  • ความไม่ประมาทและการประเมินสถานการณ์ที่เหมาะสม
  • ความมีน้ำใจนักกีฬา ขยันหมั่นเพียร อดทน อดกลั้น
  • การเห็นคุณค่าในความงามของศิลปะการป้องกันตัวแบบมวยไทย
การฝึกฝนวิชามวยไทย
  1. การสมัครตัวเป็นศิษย์ต่อสำนักเรียน/ครูมวยที่ศรัทธาเชื่อถือ
  2. การเตรียมร่างกายในด้าน ความอดทน แข็งแรง คล่องแคล่ว ว่องไว อ่อนตัว แข็งแกร่งทนทานต่อความเจ็บปวด
  3. การฝึกประสาทตา หู สัมผัส
  4. การฝึกใช้อวัยวะส่วนต่างๆตามลูกไม้ แม่ไม้เพื่อให้เกิดพิษสงที่ดีที่สุด
  5. การฝึกกับอุปกรณ์ต่างๆเพื่อเพิ่มสมรรถภาพโดยรวมและโดยเฉพาะส่วน
  6. การฝึกกับคู่ซ้อม/ครู
  7. การฝึกแบบจำลองสถานการณ์จากน้อยไปหามาก
  8. การฝึกประสบการณ์ตรงโดยมีผู้แนะนำแก้ไข/การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์
  9. การฝึกด้านจิตใจสำหรับนักต่อสู้ชั้นสูง
  10. การจัดโภชนาการ การบริหารความเครียด การสร้างความผ่อนคลายและการบำบัดรักษาด้วยตนเอง/ผู้เชี่ยวชาญ


2 ความคิดเห็น: